APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
สายด่วน
02-998-9999

เล่นเกมส์กระตุ้นให้เกิด "โรคสมาธิสั้น" จริงหรือไม่?

เล่นเกมส์กระตุ้นให้เกิด "โรคสมาธิสั้น" จริงหรือไม่? โดย พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต

ผู้ปกครองหลายท่านอาจประสบกับปัญหาเด็กๆ ไม่มีสมาธิในการเรียนออนไลน์ หรือปัญหาเด็กเล่นเกมส์มากเกินไป จนอาจสงสัยว่าเพราะอะไรเด็กจึงไม่ค่อยสนใจเรียนออนไลน์แต่สนใจการเล่นเกมส์มากกว่าและมีสมาธิเล่นเกมส์ได้เป็นเวลานาน หรือการเล่นวิดีโอเกมส์จะกระตุ้น หรือทำให้เกิดอาการโรคสมาธิสั้นหรือไม่ ? อะไรคือสิ่งเชื่อมโยงระหว่างวิดีโอเกมส์กับโรคสมาธิสั้น ?

จากผลการศึกษาของงานวิจัยหลายชิ้นรายงานว่าการใช้เวลาอยู่หน้าจอมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์ หรือ การทำกิจกรรมอื่นๆออนไลน์ มีความเกี่ยวข้องกับการมีความสนใจจอจ่อลดลงในเด็กทุกช่วงวัยได้

แต่การเล่นเกมส์ออนไลน์จะแตกต่างจากการเรียนออนไลน์ตรงที่การเล่นเกมส์ออนไลน์จะไปกระตุ้นให้สมองปล่อยสารโดปามีนในบริเวณสมองที่ทำให้เราเกิดความพึงพอใจมาก ซึ่งเป็นกลไกเดียวกับการติดยาเสพติด หรือแอลกอฮอล์

ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าไม่มีหลักฐานว่าวิดีโอเกมส์ทำให้เกิดสมาธิสั้น และการศึกษาในกลุ่มประชากรตัวอย่างขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่งจากประเทศนอร์เวย์ซึ่งติดตามพฤติกรรมการเล่นเกมส์ของเด็กหลายปี โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 6 ขวบ พบว่าผู้ที่มีอาการสมาธิสั้นมากกว่ามีแนวโน้มที่จะเล่นมากขึ้นเมื่อโตขึ้น แต่การใช้เวลาอยู่หน้าจอที่นานเกินไปไม่ได้ทำให้อาการโรคสมาธิสั้นของพวกเขาแย่ลง

นักวิจัยมีแนวคิดหลายประการเกี่ยวกับสาเหตุที่วิดีโอเกมส์สามารถดึงดูดเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นได้อย่างมาก เช่น

- เกี่ยวกับการกระตุ้น วิดีโอเกมส์เป็นการเล่นที่สามารถให้รางวัลได้ทันที มีการดำเนินเรื่องไปอย่างรวดเร็วและน่าตื่นเต้น ช่วยให้เด็กได้หลีกหนีความเป็นจริงและทำให้ผู้เล่นรู้สึกกับตัวเองดีขึ้น ซึ่งบางครั้งเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะมีปัญหาในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เกมออนไลน์เป็นช่องทางช่วยให้ผู้เล่นหาเพื่อนออนไลน์ได้ง่ายขึ้น

- เด็กสมาธิสั้นจะมีความสามารถในการจดจ่อกับสิ่งที่สนุกสนานหรือน่าสนใจอย่างยิ่ง ทำให้เด็กสมาธิสั้นจดจ่ออยู่กับเกมมากจนไม่สามารถละความสนใจที่มีต่อเกมส์ไปสนใจสิ่งอื่นได้

สัญญาณเตือน

เด็กบางคนที่มีโรคสมาธิสั้นสามารถใช้เวลาอยู่หน้าวิดีโอเกมมากเกินไป ผู้ปกครองควรทำข้อตกลงเรื่องกฎเกณฑ์กับบุตรหลานว่าสามารถเล่นได้นานแค่ไหนและเล่นได้เมื่อไร เพื่อให้เด็กๆได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะอื่นๆที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ทักษะปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ทักษะการทำกิจกรรมกับครอบครัว การออกกำลังกาย เป็นต้น ควรให้เด็กทำการบ้านและงานบ้านเสร็จก่อนที่จะหยิบมือถือหรือแท็บเล็ต
สัญญาณที่บอกว่าเด็กติดเกมส์ เช่นฉุนเฉียวเมื่อถูกขอให้หยุดเล่น ระเบิดอารมณ์เมื่อเล่นเกมส์แพ้ ไม่นอนทั้งคืนหรือเล่นดึกมาก ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูงน้อยลง และใช้เวลาอยู่คนเดียวกับเกมส์มากขึ้น มีความคิดเกี่ยวกับการเล่นเกมส์ตลอดเวลา ผลการเรียนแย่ลง หมดความสนใจในกิจกรรมอื่นๆ ที่เคยสนุก

หากผู้ปกครองสงสัยว่าบุตรหลานมีปัญหาเรื่องสมาธิสั้นหรือปัญหาติดเกมส์ สามารถพูดคุยกับกุมารแพทย์หรือผู้ด้านสุขภาพจิตได้ และสามารถติดต่อนัดหมาย หรือรับคำปรึกษาเพิ่มเติม ได้ที่ โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต หรือ ติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-998-9888 ต่อ 3216, 3217 ได้ในเวลา 08.00-20.00 น.

บทความโดย
พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้