APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
สายด่วน
02-998-9999

IVF เด็กหลอดแก้ว ทางเลือกเพิ่มโอกาสมีบุตร

'ภาวะมีบุตรยาก' หนึ่งในปัญหาชีวิตคู่ จากสาเหตุที่คู่สามี-ภรรยา วางแผนที่จะมีบุตรช้า หรือ มีบุตรเมื่ออายุมาก โดยปัจจุบันนั้นมีเทคโนโลยีเพิ่มโอกาสการมีบุตรให้เลือกหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกวิธีการที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด โดยวิธี IUI และอีกหนึ่งวิธีที่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการช่วยให้ตั้งครรภ์มากที่สุด “IVF หรือ การทำเด็กหลอดแก้ว”

IVF เด็กหลอดแก้ว คืออะไร? ทำไมถึงต้องทำ IVF?

เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ IVF (ไอวีเอฟ) หรือ การทำเด็กหลอดแก้ว (IN-VITRO FERTILIZATION)

เป็นเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ โดยการคัดเซลล์ไข่ ที่สมบูรณ์จากฝ่ายหญิงและคัดอสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชาย  ปฏิสนธิกันในห้องปฏิบัติการ เมื่อปฏิสนธิแล้ว จึงย้ายตัวอ่อน หรือเอ็มบริโอ (EMBRYO) กลับโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง โดยเทคโนโลยีนี้เป็นที่นิยมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด สำหรับผู้มีภาวะมีบุตรยาก

IVF เหมาะกับใคร?

  • ผู้ชายที่อสุจิไม่แข็งแรงอย่างรุนแรง
  • เชื้ออสุจิผิดปกติ เช่น จำนวนน้อย รูปร่างผิดปกติ การเคลื่อนไหวน้อย
  • ผู้หญิงที่ท่อนำไข่อุดตัน 2 ข้าง
  • ผู้หญิงเคยทำหมันโดยตัดท่อนำไข่
  • ภาวะที่ไม่ทราบสาเหตุของการมีบุตรยาก

IVF ต่างจาก ICSI อย่างไร

ICSI จะมีกระบวนการกระตุ้นไข่เพื่อทำเด็กหลอดแก้วเหมือน IVF แต่จะแตกต่างกันตรงวิธีการปฏิสนธิ กล่าวคือ การทำ IVF จะปล่อยให้อสุจิปฏิสนธิกับไข่เองตามธรรมชาติ แต่การทำ ICSI จะมีการคัดเลือกอสุจิ 1 ตัว แล้วทำการฉีดอสุจิเข้าไปในไข่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ ดังนั้น ICSI จึงเหมาะกับผู้ที่มีอสุจิผิดปกติขั้นรุนแรงเกินกว่าจะทำIVF ได้ หรือในรายที่ไข่มีปัญหาซึ่งส่งผลให้อสุจิปฏิสนธิเองได้ยาก

ทั้งIVFและICSI ต่างเป็นวิธีการทำเด็กหลอดแก้วที่มีประสิทธิภาพสูง โดยแพทย์จะแนะนำวิธีที่เหมาะสมที่สุดให้กับคู่สมรสแต่ละคู่ โดยพิจารณาจากผลตรวจไข่และน้ำเชื้อ เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการปฏิสนธิและการตั้งครรภ์

ส่วนกรณีที่ต้องทำการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติทางพันธุกรรม (PGT) จำเป็นต้องใช้เทคนิค ICSI เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของ DNA

การเตรียมตัวสำหรับการทำเด็กหลอดแก้ว

  • การเตรียมตัวด้านสุขภาพ
    • คู่สมรสที่ต้องการรักษาภาวะมีบุตรยาก ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักจนเกินไป นอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด หลีกเลี่ยงคาเฟอีน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน และเสริมด้วยแร่ธาตุโฟลิก อย่างน้อย 1 เดือนก่อนเข้ารับการรักษา ในฝ่ายชายควรหลีกเลี่ยงการปั่นจักรยาน แช่น้ำอุ่นหรือการทำซาวน่า และหลีกเลี่ยงการใส่กางเกงในที่รัดแน่นเกินไป
    • คู่สมรสควรทำความเข้าใจ และได้รับคำอธิบายให้เข้าใจถึงขั้นตอนการทำ อัตราความสำเร็จ และความเสี่ยงของการทำเด็กหลอดแก้ว หากไม่เข้าใจควรสอบถามแพทย์เพิ่มเติมก่อนเริ่มกระบวนการรักษาต่อไป
  • การตรวจก่อนทำเด็กหลอดแก้ว (Preparation Part)
    • พบแพทย์เพื่อตรวจประเมินทั่วไป
      • ตรวจเลือดเพื่อหาโรคติดเชื้อไวรัสต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการถ่ายทอดไปยังทารก เช่น เอชไอวี (HIV) ตับอักเสบบี (Hepatitis B) โรคซิฟิลิส (Syphilis)
      • ตรวจคัดกรองโรคหัดเยอรมันเพื่อให้วัคซีนป้องกันก่อนเริ่มการตั้งครรภ์
      • ตรวจคู่สมรสเพื่อคัดกรองโรคเลือดจางธาลัสซีเมียเพื่อลดความเสี่ยงในบุตร
      • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและส่งตรวจเพิ่มเติมหากพบความผิดปกติ
      • ในครอบครัวที่มีประวัติการคลอด ทารกที่ผิดปกติ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะสติปัญญาอ่อน ตาบอดสี อาจต้องมีการส่งตรวจทางพันธุกรรมเพิ่มเติมก่อนเริ่มรักษา
      • แพทย์จะประเมินความพร้อมทางจิตใจ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าเครียด หรือ ปัญหาสุขภาพจิตอันจะส่งผลต่อกระบวนการการรักษา
      • การตรวจพิเศษในฝ่ายหญิง          
        • ซักประวัติและตรวจภายในเพื่อหาสาเหตุอัลตราซาวด์ เพื่อประเมิน อุ้งเชิงกราน มดลูก และรังไข่ เจาะเลือดตรวจระดับฮอร์โมน เพื่อประเมินการทำงานของรังไข่ วิธีตรวจพิเศษ อาจพิจารณาทำในบางรายที่จำเป็น เช่น การฉีดสีเพื่อประเมินโพรงมดลูก และท่อนำไข่ การส่องโพรงมดลูก หรือส่องกล้องหน้าท้อง
      • การตรวจพิเศษในฝ่ายชาย
        • ตรวจร่างกาย เพื่อหาความผิดปกติของอัณฑะและอวัยวะเพศ
        • ตรวจวิเคราะห์จำนวน, รูปร่าง และคุณภาพของน้ำเชื้ออสุจิ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของอสุจิ
  • การเตรียมเอกสารสำหรับทำเด็กหลอดแก้ว
    • บัตรประชาชน สามี และ ภรรยา
    • ทะเบียนสมรส
    • ใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)

ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว

  1. ตรวจประเมินความพร้อมร่างกายก่อนเริ่มกระบวนการ
  2. การกระตุ้นไข่ (Controlled ovarian hyperstimulation) โดยที่ฝ่ายหญิงฉีดยากระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่
  3. การเก็บไข่ (Egg Retrieval) เก็บไข่ที่สุกแล้วของฝ่ายหญิง
  4. การเก็บน้ำเชื้อฝ่ายชาย (Sperm)
  5. ทำการปฏิสนธิ (Fertilization)ทำการปฏิสนธิในห้องแล็บด้วยวิธี IVF/ICSI
  6. เมื่อปฏิสนธิแล้ว จึงเลี้ยงเป็นตัวอ่อน (Embryo) จนถึงระยะ Blastocyst ที่เหมาะสม จากนั้นจึงดึงเซลล์จากตัวอ่อน (Biopsy) มาทำการตรวจ
  7. ตรวจวินิจฉันพันธุกรรมและโรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมในตัวอ่อนเชิงลึก ด้วยการใช้เทคนิค NGS และ/หรือ Karyomapping เพื่ออความแม่นยำครบถ้วนของการวินิจฉัย
  8. เลือกตัวอ่อนที่คุณภาพดีใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์

ข้อดี-ข้อจำกัดของการทำเด็กหลอดแก้ว

ข้อดีของการทำเด็กหลอดแก้วข้อจำกัดในการทำเด็กหลอดแก้ว
✓ สามารถตรวจโครโมโซม เพื่อลดความผิดปกติทางพันธุกรรมได้
✓ สามารถตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรมกลุ่มเสี่ยง
บางอย่างภายในครอบครัว เพื่อแก้ไขปัญหาทารกคลอดผิดปกติทางพันธุกรรมได้
✓ เป็นวิธีที่เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้สูง เทียบกับการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ และ การฉีดเชื้อ
✓ สามารถเก็บไข่ น้ำเชื้อและตัวอ่อนได้เป็นระยะเวลานาน
✓ สามารถทำได้ในฝ่ายหญิงและฝ่ายชายที่เคยผ่านการทำหมันมาแล้ว
◉ ราคาค่อนข้างสูง
◉ ใช้เวลาในการกระตุ้นไข่และย้ายตัวอ่อนนาน
ถ้าเทียบกับการฉีดเชื้อ แต่โอกาสตั้งครรภ์สูงกว่า
◉ ภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น ภาวะรังไข่ตอบสนอง
ต่อการกระตุ้นไข่มากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation
Syndrome หรือ OHSS) รวมถึงการตั้งครรภ์แฝด
การติดเชื้อหลังการเก็บไข่

ความเสี่ยงของการทําเด็กหลอดแก้ว

การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้ เช่น

  • ภาวะรังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นไข่มากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation Syndrome (OHSS) ภาวะนี้เกิดจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อยากระตุ้นมากเกินไป ทำให้มีอาการท้องอืด, กดเจ็บที่บริเวณช่องท้อง, มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรืออาจมีอาการรุนแรงได้หากไม่ได้ดูแล
  • มีโอกาสตั้งครรภ์แฝด การตั้งครรภ์แฝดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น จำนวนตัวอ่อนที่ย้าย, อายุฝ่ายหญิง, สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก ยิ่งมีการย้ายตัวอ่อนจำนวนมากเท่าใด และฝ่ายหญิงมีอายุน้อยมากเท่าใด โอกาสในการตั้งครรภ์แฝดก็ยิ่งสูงขึ้น เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์แฝด (แฝดสอง, แฝดสาม ฯลฯ) แพทย์จะแนะนำให้ย้ายตัวอ่อนกลับเพียงแค่ตัวเดียว
  • เลือดออกหรือติดเชื้อหลังการเก็บไข่
  • มีโอกาสท้องนอกมดลูก พบได้น้อยมาก
  • ความผิดปกติของโครโมโซม, ภาวะออทิสติก, ภาวะความผิดปกติทางสติปัญญา, และความผิดปกติโดยกำเนิด : บางงานวิจัยพบว่าการรักษาด้วยวิธี ICSI อาจสัมพันธ์กับการเกิดความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเทคนิค IVF และการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ แต่หากมีการตรวจโครโมโซมตัวอ่อนก่อนการฝังตัวควบคู่ไปด้วย จะช่วยเลือกตัวอ่อนที่แข็งแรง ลดความเสี่ยงของทารกที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม และความผิดปกติทางพันธุกรรมได้มากกว่าวิธีตามธรรมชาติ และลดโอกาสแท้งได้

อาการที่ควรไปพบแพทย์หลังทำเด็กหลอดแก้ว

ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา หากกําลังทำเด็กหลอดแก้วแล้วมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีไข้สูง ( >38.5 องศาเซลเซียส)
  • ปวดท้องน้อย
  • ตกขาวผิดปกติ
  • มีเลือดออกมากทางช่องคลอด
  • ปัสสาวะแสบขัด หรือมีเลือดปะปน

ปัจจัยที่ทำให้ย้ายตัวอ่อนไม่สำเร็จ

ปัจจัยที่ทำให้ย้ายตัวอ่อนไม่สำเร็จนั้นมีอยู่หลายประการ ยกตัวอย่างเช่น

คุณภาพตัวอ่อน ตัวอ่อนที่คุณภาพไม่ดี หรือมีโครโมโซมผิดปกติ จะมีโอกาสฝังตัวสำเร็จต่ำกว่าตัวอ่อนที่คุณภาพดี ทั้งนี้ คุณภาพตัวอ่อน

เป็นผลมาจากคุณภาพไข่ คุณภาพอสุจิ สภาวะแวดล้อมที่ใช้เลี้ยงตัวอ่อน เป็นต้น

คุณภาพของโพรงมดลูกที่ฝังตัว ในบางรายที่มีความผิดปกติของโพรงมดลูกเช่น เนื้องอก ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก มีการอักเสบของโพรงมดลูก

รวมไปถึงภาวะท่อนำไข่บวมน้ำ จะส่งผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อนได้ การเพิ่มคุณภาพของโพรงมดลูกที่สามารถทำเองได้ เช่น

การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารสุก สะอาด สารอาหารครบและเพียงพอ

หลีกเลี่ยงคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และบุหรี่ ป้องกันและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการซื้อยาสมุนไพรทานเอง

และหมั่นตรวจสุขภาพและตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ

ปัญหาภูมิคุ้มกัน ในบางรายร่างกายจะมีการขับสารที่รบกวนการสร้างผนังเซลล์ และมีผลทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดในเส้นเลือด

ซึ่งอาการเหล่านี้ส่งผลโดยตรงที่จะเข้าไปขัดขวางการสูบฉีดเลือดส่งไปยังโพรงมดลูก และยับยั้งกระบวนการฝังตัวอ่อนลงทำให้ไม่สามารถฝังตัว

ของตัวอ่อนได้จนเกิดอาการแท้งในภายหลัง

โรคประจำตัวที่ไม่ได้รักษา หรือยังควบคุมโรคไม่ได้

.......................................................................................................................................................................................................................

Q&A คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ IVF

คำถามที่ 1: ทำแล้วจะท้องในครั้งแรกเลยหรือเปล่า?

ตอบ : อัตราปฏิสนธิของตัวอ่อนจากการทำ IVF และ ICSI อยู่ในเกณฑ์ไม่ต่างกันคือประมาณ 70-80 % ส่วนอัตราการตั้งครรภ์จากการทำ IVF และ ICSI

ใกล้เคียงกันราว 40 – 70% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ, สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก, และปัจจัยภาวะแวดล้อมอื่นๆ

คำถามที่ 2 : อาการที่บ่งบอกว่าตัวอ่อนไม่ติด?

ตอบ  : โดยปกติแล้วแพทย์จะนัดตรวจฮอร์โมนการตั้งครรภ์ 10-14 วันหลังย้ายตัวอ่อน หากมีอาการเลือดออกจากช่องคลอดก่อนนัด

แนะนำให้เข้าปรึกษาแพทย์ทันที อาจมีการปรับยาฮอร์โมนหรือเจาะเลือดเพิ่มเติมเพื่อลดการแท้งหรือตัวอ่อนเกาะไม่ติด

คำถามที่ 3 : น้ำหนักเยอะ สามารถทำเด็กหลอดแก้วได้ไหม?

ตอบ : ผู้ที่น้ำหนักเกินมาตรฐานทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย จะมีผลลดอัตราการตั้งครรภ์และอัตราการคลอดบุตร เนื่องจากลดอัตราการตกไข่ ลดคุณภาพของไข่ ลดจำนวนและคุณภาพของอสุจิ นอกจากนี้ หากเป็นเบาหวานร่วมด้วยแล้วจะยิ่งส่งผลต่อคุณภาพของไข่และอสุจิมากยิ่งขึ้น หรืออาจส่งผลให้หลั่งอสุจิไม่ออกได้

ในผู้ที่น้ำหนักเกินมาตรฐานก็สามารถทำเด็กหลอดแก้วได้ แต่คุณภาพของไข่และอสุจิที่ได้อาจไม่ดีเท่าในคนที่น้ำหนักตามมาตรฐาน จึงทำให้โอกาสการตั้งครรภ์ลดลง นอกจากนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการกระตุ้นไข่และการเก็บไข่มากขึ้น ดังนั้นจึงแนะนำให้ลดน้ำหนักโดยการออกกำลังกายและควบคุมอาหารก่อนเริ่มการทำเด็กหลอดแก้ว ทั้งนี้ไม่ควรใช้ยาหรือสมุนไพรเพื่อลดน้ำหนักก่อนการทำเด็กหลอดแก้วเนื่องจากอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและการตอบสนองของรังไข่ต่อ ยากระตุ้นไข่ได้

คำถามที่ 4 : การทำเด็กหลอดแก้วมีอัตราความสำเร็จเท่าไหร่?

ตอบ : อัตราความสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้ว อยู่ที่ประมาณ 40 – 60% ทั้งนี้ขึ้นกับ อายุ , สาเหตุของภาวะการมีบุตรยาก, ตลอดจนลักษณะการดำเนินชีวิต คุณภาพไข่และอสุจิ ฝ่ายหญิงที่ยังอายุน้อยมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า แต่ก็มีหลายเคสของผู้เข้ารับการรักษาที่มีอายุมากและประสบความสำเร็จเช่นกัน การปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆจะช่วยให้วางแผนการรักษาได้ทันท่วงที และเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้สูงขึ้นได้

...................................................

สำหรับคู่รักที่เป็นกังวลเรื่องมีบุตรยาก อยากให้คลายกังวล เพราะปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์มีหลากหลายวิธี ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการมีบุตร ไม่ว่าจะเป็น วิธี IUI – Intrauterine Insemination การฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง , IVF – In Vitro Fertilization การทำเด็กหลอดแก้ว , ICSI – Intracytoplasmic Sperm Injection การทำอิ๊กซี่ รวมถึง เทคโนโลยี PGT-A การตรวจหาความผิดปกติทางโครโมโซมตัวอ่อน โดยแต่ละวิธีการที่เหมาะสมสมควรตามแต่ละบุคคล เบื้องต้นสามารถเข้ามารับคำปรึกษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้มีบุตรยาก เพื่อเติมเต็มประสบการณ์ชีวิตครอบครัวที่มีลูกน้อย

พญ.พัชรินทร์ เกียรติสารพิภพ

สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้มีบุตรยาก

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้