ทริคดีๆ สอนลูกน้อยเข้าสังคม และเป็นที่รักของเพื่อนๆ by นพ.ธีรนันท์ มิตรภานนท์

ความกังวลใจเรื่องลูกน้อยของพ่อๆแม่ๆ นอกจากปัญหาสุขภาพแล้ว ยุคนี้คงหนีไม่พ้น เรื่องการสอนลูกของเราเข้าสังคม และเป็นที่รักของเพื่อนๆ รวมถึงปัญหาสุดหนักใจอย่างการรับมือ เรื่อง "การบูลลี่กันในเด็ก" ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตของเด็กได้ในระยะยาว โดยบทความนี้ คุณหมอท๊อฟฟี่ หรือ นพ.ธีรนันท์ มิตรภานนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และผอ.รพ.แพทย์รังสิต จะพาคุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครองทุกคน ทำความเข้าใจและเรียนรู้เทคนิคดี ๆ ในการสอนลูกน้อยหรือบุตรหลานของเรา รวมถึงเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ ผู้ปกครองทุกคน ในการหล่อหลอมลูกน้อยของเราในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับทุกคนในสังคมได้อย่างราบรื่บขึ้น

จริงๆแล้ว หลักการควรเริ่มจากการสอนให้ลูกเราเข้าใจ สำคัญที่สุด คือ ควรเริ่มจากการที่สอนให้ลูกของเรามีความเข้าใจตนเอง โดยเริ่มจาก....

การสอนให้เด็กเข้าสังคม

ช่วงเวลาที่ลูกของเราจะต้องเริ่มเข้าสังคมอย่างจริงจัง นั่นก็คือ ช่วงเวลาที่ลูกของเราเริ่มเข้าโรงเรียนนั่นเอง การเข้าสังคมจำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนบ่อยๆ และการสังเกตของพ่อแม่ ผู้ปกครองในการสนับสนุน และให้คำแนะนำ ตามสถานการณ์ต่างๆ เช่น ระหว่างที่ลูกกำลังเล่นกับเพื่อน เป็นต้น

 การบูลลี่ในเด็ก ปัจจุบันทำว่าเป็นปัญหาที่พบได้เรื่อยๆ ในหมู่เด็กเล็กไปจนถึงเด็กโต การป้องกัน และการอบรมสั่งสอนเด็กนั้น พ่อแม่ควรเริ่มต้นจากการหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็กสม่ำเสมอ ในกรณีเด็กถูกกลั่นแกล้ง อาจส่งผลทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าไม่อยากเข้าสังคม หรือที่เรียกว่า Social withdrawal มีการเก็บตัว แยกตัวเองออกจากสังคม ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กและสภาพจิตใจของเด็กในระยะยาว

รับมืออย่างไร? เมื่อลูกถูกแกล้ง

การรับมือนั้น หลังจากที่เราสอนให้เด็กเรียนรู้ความรู้สึก ความคิดตนเองแล้ว เด็กจะมีพัฒนาการและมีความเข้าใจมากขึ้น พ่อแม่ควรสนับสนุนและสั่งสอนเด็กสม่ำเสมอ เมื่อเด็กถูกแกล้ง ให้เด็กรู้วิธีการรับมือ การหยุดเหตุการณ์นั้นผ่านการสื่อสารทั้งคำพูดและการสื่อสารทางด้านร่างกาย เช่น การรายงานคุณครู การบอกเพื่อว่าให้หยุดการกระทำนั้น เป็นต้น

สุดท้ายนี้ ปัญหาสองด้านที่พ่อแม่ และผู้ปกครองควรพึงระลึกถึง คือ ด้านแรก กลุ่มอาการออทิสติก แม้มีอาการเพียงเล็กน้อยก็ตาม เช่น ลูกชอบเล่นคนเดียว การไม่เข้าสังคม รวมถึงการอยากเข้าสังคม แต่ไม่รู้วิธีการเข้าหา ส่วนด้านที่สอง คือ ปัญหาด้าน Social phobia หรือการกลัวการเข้าสังคม ซึ่งลักษณะเด็กเหล่านี้จะมีความขี้อาย เป็นต้น และไม่ว่าจะเป็นปัญหาไหน ในสองด้านนี้ อาจส่งผลต่อการเข้าสังคมลูกน้อยของเราได้ ดังนั้นจึงอยากแนะนำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองนำลูกหรือบุตร เข้ามาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการประเมิน รวมถึงเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ชำนาญการในการเลี้ยงดูบุตรหลาน

รับชม Video เพิ่มเติม :

ซนตามวัย ซนแบบไหนถึงเรียกว่าตามวัย ?

โดยปกติแล้วเด็กก่อนอายุ 6 ขวบ จะใช้การเล่นเป็นสื่อในการเรียนรู้ และยังมีมุมมองความเข้าใจโดยยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง แต่ทั้งนี้หากพฤติกรรมการเล่นนั้นมีความเสี่ยงสูงต่อการบาดเจ็บทางร่างกาย และไม่สามารถควบคุมจัดการพฤติกรรมนั้นได้ อาจตั้งข้อสงสัยว่าเป็นสมาธิสั้นได้

โดยทั่วไปแล้ว มักพบใน 5-8 เปอร์เซ็นต์ในเด็ก และ 2.5เปอร์เซ็นต์ในผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กผู้ชาย มักมีอาการอยู่ไม่นิ่ง และเด็กผู้หญิงมักมีอาการขาดสมาธิ โดยพฤติกรรมของกลุ่มอาการสมาธิสั้นจะก่อให้เกิดปัญหาที่บ้าน ที่โรงเรียน รวมถึงการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

กลุ่มอาการ สมาธิสั้น แยกได้อย่างไรบ้าง?

ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดภาวะสมาธิสั้น

การวินิจฉัย"สมาธิสั้น"

การรักษา"สมาธิสั้น"

การป้องกันภาวะสมาธิสั้น

บทความโดย
พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์

ทำความรู้จักเกี่ยวกับ"โรคสมาธิสั้น" เพิ่มเติม :

ถอดบทสัมภาษณ์ ของนพ.ธีรนันท์ มิตรภานนท์ "หยุด !! พฤติกรรมบูลลี่ในเด็ก เพื่อยุติความรุนแรงทางจิตใจ" รายการ วันใหม่วาไรตี้ ช่อง Thai PBS

ปัจจุบันการบูลลี่กันในเด็ก ทั้งเด็กที่ถูกผู้อื่นบูลลี่ และเด็กที่ไปบูลลี่คนอื่น นับเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาจิตใจได้ในระยะยาว ทั้งนี้พ่อแม่ และผู้ปกครองที่ใกล้ชิดเด็ก ควรหมั่นสังเกตุและใส่ใจพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของเด็ก เพื่อสนับสนุนพลังใจรวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกัน ยับยั้งพฤติกรรมการบูลลี่ในเด็ก

โดยวันนี้เราจะมาพาทุกท่านมาอ่านบทสัมภาษณ์ ของคุณหมอธีรนันท์ มิตรภานนท์ จิตแพทย์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพทย์รังสิต ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการวันใหม่วาไรตี้ ช่องไทยพีบีเอส โดยมีคุณภัชชาร์ ภัทรเดชาธรรมดาเป็นพิธีกรดำเนินรายการ เพื่อให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของการยับยั้งปัญหาที่เกิดจากการบูลลี่  

คุณภัชชาร์ ภัทรเดชาธรรม (ผู้ดำเนินรายการ) :  นิยามของคำว่าบูลลี่ มันคืออะไรคะ ?

นพ.ธีรนันท์ มิตรภานนท์ : การบูลลี่ คือ การกลั่นแกล้งกัน ซึ่งมันก็จะส่งผลกระทบต่างๆ แต่จริงๆแล้ว การบูลลี่มีหลายแบบ อย่างเช่น การทำร้ายร่างกาย อย่างที่สอง คือ คำพูด การต่อว่ากันโดยตรง การนินทา การเรียกชื่อสรรพนาม ฉายาต่างๆ แต่จะมีอีกแบบที่สังคมยังไม่ทราบ คือ การบูลลี่ทางสังคม เช่น การล็อบบี้ในหมู่เพื่อนให้แบนคนคนหนึ่ง ส่วนนี้ก็มีผลกระทบมาก...เรื่องสุดท้าย คือ เรื่องการบูลลี่แบบไซเบอร์บลูลี่ (cyberbullying)  การกลั่นแกล้งกันทางออนไลน์ โซเชียล นับว่าเป็นความเสี่ยงที่ผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างพอสมควร

คุณภัชชาร์ ภัทรเดชาธรรม (ผู้ดำเนินรายการ) : แล้วการบูลลี่แบบการเรียกลักษณะของคนอื่นที่ผิดแผกไปจากคนอื่น คำนำหน้าต่างๆ บางคนอื่นอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา อันนี้คุณหมอมีความเห็นอย่างไรบ้างคะ ?

นพ.ธีรนันท์ มิตรภานนท์ :  จริงๆ แล้ว เรื่องบูลลี่นะครับ สำคัญที่สุดคือ เราต้องรู้ก่อนว่ามันใกล้ตัวกว่าที่เราคิดไว้เยอะมาก การใช้ชีวิตประจำวันของเราอาจจะเผลอไปบูลลี่คนอื่นโดยไม่รู้ตัว ลำดับแรกเราควรรู้ตนเองก่อน มีสติก่อนว่าการกระทำใดที่เราได้ทำไป แม้เราไม่คิดอะไร แต่จริงๆแล้วอาจจะมีผลกับคนอื่น ไม่ว่าจะเรียกชื่อ การวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการสอนในลักษณะคล้ายการต่อว่า หมอจึงอยากจะแนะนำว่า อย่างน้อยควรรู้ตนเองก่อนจะทำอะไร จะพูดอะไร ควรคิดก่อน ควรพูดอะไรที่เป็นเชิงบวกเสมอ เลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบ

คุณภัชชาร์ ภัทรเดชาธรรม (ผู้ดำเนินรายการ) : ที่คุณหมอพูดมาดีมาก เพราะหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ จริงๆ แล้วผิดหรือเปล่า เพราะฉะนั้นควรมองในมุมบวกไว้ เพราะการกระทำที่ออกมาจะบวกตาม งดเว้นเรื่องของการไปพูดถึงรูปลักษณ์ภายนอก แต่ทีนี้การบูลลี่ในผู้ใหญ่ บางคนอาจมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว แต่การบูลลี่ในเด็กอาจส่งผลแย่กว่า เพราะเด็กอาจภูมิต้านทานต่ำกว่า เพราะตอนนี้เราได้ยินข่าวเยอะมาก เช่น เด็กไม่ไปโรงเรียน ไม่เข้าสังคม กลายเป็นคนละคน จากเป็นเด็กร่าเริง แต่พอไปโรงเรียนกลับกลายเป็นคนไม่อยากเข้าสังคม แบบนี้มีวิธีการสังเกตุว่าเด็กกำลังมีปัญหาการถูกบูลลี่อย่างไรบ้าง ?

นพ.ธีรนันท์ มิตรภานนท์ :  ง่ายๆ คือ สังเกตุพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป ว่ากำลังเผชิญกับการถูกบูลลี่ เช่น มีอาการซึมเศร้า พูดน้อยลง อะไรที่ชอบทำก็ไม่อยากทำ พยายามสังเกตุตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อประเมิน ที่สำคัญควรหมั่นถามไถ่เด็ก เช่น วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ? ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง ? เป็นต้นครับ

คุณภัชชาร์ ภัทรเดชาธรรม (ผู้ดำเนินรายการ) : แล้วในกรณีของเด็กที่เป็นผู้กระทำ (ผู้กลั่นแกล้งคนอื่น) เอง ควรมีวิธีจัดการอย่างไร

นพ.ธีรนันท์ มิตรภานนท์ :   ต้องเข้าใจก่อนครับ ว่าลึกๆแล้ว เราต้องการให้สังคมดีขึ้น เพราะฉะนั้นการไปประณามคนที่รังแกผู้อื่น ชีวิตของคนนั้นก็มีแต่จะแย่ลง และอาจจะเป็นผลเสียต่อสังคมในอนาคต เพราะฉะนั้นสิ่งควรทำ คือ การให้ความรัก ให้อภัยเด็กคนนั้นก่อน และบ่อยครั้งเรามักพบว่า เด็กที่ไปแกล้งคนอื่น ก็มักจะมีความอึดอัดใจ ความเจ็บป่วย เช่น มีปัญหาโรคซึมเศร้า วิตกกังวล ภาวะถูกกดดัน ปัญหาครอบครัว ซึ่งจริงๆ เด็กกลุ่มนี้ก็ควรจะพบจิตแพทย์ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่คนที่ถูกแกล้งอย่างเดียว

คุณภัชชาร์ ภัทรเดชาธรรม (ผู้ดำเนินรายการ) : พอเรามอง 2 มุมมองแบบนี้ คือ ระหว่างเด็กที่ถูกรังแก และเด็กที่รังแกผู้อื่นแล้ว อยากให้คุณหมอพูดถึง พื้นฐานความสำคัญของครอบครัวว่าสำคัญขนาดไหน หลายๆครอบครัว ควรสั่งสอนเด็กอย่างไรคะ?

นพ.ธีรนันท์ มิตรภานนท์ :    หลักๆ แล้ว ไม่ใช่การสั่งสอนอย่างเดียวครับ แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันเลย คือการสร้างเสริมสุขภาพใจ ความมั่นใจตนเอง ให้ความรัก ความอบอุ่น แล้วสักวันหนึ่งเด็กจะมีภูมิต้านในตัวเอง พ่อแม่และครอบครัวควรให้การยอมรับ และการทำความเข้าใจในเด็ก ใช้การเสริมสร้างกำลังใจในทางบวกมากกว่าลบ

คุณภัชชาร์ ภัทรเดชาธรรม (ผู้ดำเนินรายการ) : ท้ายที่สุดแล้ว วิธีการยับยั้งการการบูลลี่ ไซเบอร์บูลลี่ (cyberbullying) ควรทำอย่างไรดีคะ ?

นพ.ธีรนันท์ มิตรภานนท์ :    สำคัญที่สุดคือหลายๆ ภาคส่วนของสังคมควรช่วยเหลือกันไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หน่วยงานรัฐ ทั้งนี้ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ พื้นฐานครอบครัวที่จะช่วยในการขัดเกลาพฤติกรรมเด็กสม่ำเสมอ

คุณภัชชาร์ ภัทรเดชาธรรม (ผู้ดำเนินรายการ) : สุดท้ายแล้ว คือ พื้นฐานครอบครัวสำคัญอย่างมาก เพราะครอบครัวต้องใช้เวลาร่วมกับเด็ก เรียนรู้และเข้าใจ ต้องเติบโตไปพร้อมๆกับเด็ก

รับชม Video เพิ่ม

โรควิตกกังวลจากการแยกจากกัน (Seperation anxiety disorder, SAD) เพราะการแยกจากกันไม่ใช่เรื่องง่าย

ความวิตกกังวลจากการแยกจากกันเป็นเรื่องปกติในเด็กเล็กช่วงอายุ 18 เดือนถึง 3 ปี แต่หากอาการของความวิตกกังวลนั้นรุนแรงและเป็นเรื้อรังนานอย่างน้อย 4 สัปดาห์ขึ้นไป อาจจะต้องนึกถึงโรควิตกกังวลจากการแยกจากกัน เนื่องจากเป็นโรควิตกกังวลที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก พบประมาณ 1-4% ของเด็ก อายุเฉลี่ยที่เริ่มมีอาการคือ อายุ 7 ปี ยังไม่มีการศึกษาความชุกของผู้ใหญ่ที่เป็นโรควิตกกังวลจากการแยกจากกัน

เด็กที่เป็นโรควิตกกังวลจากการแยกจากจะมีความรู้สึกหวาดกลัวและวิตกกังวลเมื่อต้อง อยู่ห่างจากบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งมักจะเป็นพ่อ แม่ หรือผู้ดูแลคนอื่นๆ ในเด็กบางคนอาจมีอาการทางร่างกายร่วมด้วย เช่น ปวดหัวหรือปวดท้อง อาการมักเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องแยกจากหรือเมื่อคิดว่าต้องแยกทางกัน เพราะเด็กกังวลว่าอาจจะมีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นกับพ่อแม่หรือผู้ดูแลหากเด็กจากไป เด็กที่ยังเล็กมากอาจไม่สามารถระบุความคิดที่น่ากลัวได้) ส่งผลให้เกิดปัญหาพฤติกรรมต่างๆตามมา เช่น ....

พฤติกรรมดังยกตัวอย่างไป อาจทำให้เด็กพลาดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ อย่างไรก็ตามความรุนแรงของอาการจะลดลงทีละน้อยเมื่อเด็กโตเป็นวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตามลำดับ แต่ความวิตกกังวลจากการพลัดพรากสามารถดำเนินไปในวัยผู้ใหญ่ได้ และในบางรายอาจเริ่มมีอาการในวัยผู้ใหญ่ซึ่งอาจเกิดตามมาภายหลังจากเผชิญเหตุการณ์เกี่ยวกับการสูญเสียบุคคอันนี้เป็นที่รัก เข่น การเสียชีวิตหรือการหย่าร้าง เป็นต้น

สาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรควิตกกังวลจากการแยกจากกัน อาจเกิดจากปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ พื้นอารมณ์ของเด็กที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เช่น มีพื้นอารมณ์เดิมปรับตัวยากหรือปรับตัวช้า ปัจจัยทางจิตใจและสิ่งแวดล้อม เข่น การตายของสมาชิกในครอบครัว การย้ายบ้านหรือเปลี่ยนโรงเรียน การถูกเลี้ยงดูในลักษณะปกป้องหรือประคบประหงมมากเกินไป สมาชิกในครอบครัวมีความวิตกกังวลหรือความผิดปกติทางจิตอื่นๆ การที่เด็กไม่สามารถสร้างความผูกพันที่มั่นคงปลอดภัยกับพ่อแม่หรือผู้ดูแลได้ เป็นต้น ซึ่งเด็กที่เป็นโรควิตกกังวลจากการแยกจากกัน ยังสามารถพบโรคร่วมอื่นๆได้อีก เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ  และโรคซึมเศร้า

การช่วยเหลือและการรักษาจึงมีความสำคัญ เพื่อลดโอกาสในการเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตอื่นๆที่จะพบตามมา ผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำและให้การบำบัดปรับพฤติกรรมเพิ่อช่วยให้เด็กเรียนรู้วิธีจัดการกับความวิตกกังวลของตนได้ดีขึ้น มีการให้คำแนะนำผู้ดูแลเพื่อช่วยลดความวิตกกังวลของเด็กได้ ช่วยให้ผู้ปกครองมีวิธีสร้างความผูกพันมั่นคงทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยแม้เวลาที่ต้องแยกจากกัน นอกจากนี้ยังมีการให้ยาลดความวิตกกังวลซึ่งอาจช่วยให้เด็กบางคนรู้สึกสงบขึ้น และการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับทางโรงเรียนเพื่อโรงเรียนจะสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลเด็กต่อไป

บทความโดย
พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์

สังเกตตัวเองอย่างไร ให้รู้ทัน และห่างไกลโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า ถือว่าเป็นโรคที่องค์การอนามัยโลกจัดอยู่ในโลกที่ค่อนข้างรุนแรง และมีผลกระทบกับชีวิตพอสมควร เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะนิ่งดูดาย และเราไม่ควรต้องรอจนเราเป็นซึมเศร้า เพราะฉะนั้นอาการแรกเริ่มของซึมเศร้าเป็นอย่างไร วันนี้เรามาหาคำตอบกันนะครับ

อาการที่บ่งบอก ว่าเรากำลังตกอยู่ในภาวะโรคซึมเศร้าหรือไม่ ?

หากมีอาการดังกล่าว และปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจส่งผลต่อชีวิตได้ ทั้งนี้แนะนำให้เข้ามาพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาอาการ รวมถึงวางแนวทางในการป้องกันและแก้ไข

บทความโดย
นพ.ธีรนันท์ มิตรภานนท์
จิตแพทย์ และ ผอ.รพ.แพทย์รังสิต

สัญญาณเตือนอาการซึมเศร้าของวัยรุ่น โดย พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น


โรคซึมเศร้าในวัยรุ่นพบได้บ่อย แต่มักไม่เป็นที่สังเกต อุบัติการณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กผู้หญิงนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มเข้าวัยรุ่น และเมื่อสิ้นสุดวัยรุ่น โดยมีความชุกประมาณ 4-5% ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักในการฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ยังนำไปสู่ความบกพร่องทางสังคมและการศึกษา สัมพันธ์กับอัตราการสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้สารเสพติดและโรคอ้วน
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น คือ ประวัติครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า ความเครียดทางจิตสังคม ฮอร์โมนเพศที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น แม้ว่าจะมีความคล้ายคลึงกันระหว่างภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น และภาวะซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่
จากการศึกษาติดตามระยะยาวพบว่าอาการซึมเศร้าของวัยรุ่นช่วงแรก มักแสดงอาการซึมเศร้าไม่มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปพบว่ามีความเสี่ยงที่จะมีอาการซึมเศร้ารุนแรงมากขึ้น ดังนั้นจึงควรให้ความสนใจกับภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นแม้ว่าอาการจะยังไม่รุนแรง
สัญญาณเตือนอาการซึมเศร้าของเด็กวัยรุ่น อาจแสดงออกมาเป็นอารมณ์เศร้า หรือ อารมณ์หงุดหงิด หรือไม่สนุกกับสิ่งต่างๆ เกือบทุกวัน นานอย่างน้อย 1 สัปดาห์ อาการร่วมอื่นๆ เช่น

กรณีซึมเศร้าในเด็กนอกจากอาการดังกล่าวข้างต้นแล้ว อาจแสดงออกเป็นอาการทางร่างกายมากขึ้น เช่น ปวดหัวหรือปวดท้องบ่อยๆ ได้

วิธีการช่วยเหลือวัยรุ่นที่มีอาการซึมเศร้า คือ การรับฟังเด็กอย่างตั้งใจ ให้เวลาเด็กได้อธิบายโดยไม่ตั้งคำถามเซ้าซี้ พูดคุยเรื่องความรู้สึกๆ ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ว่าเด็กรู้สึกอย่างไรและมีอะไรรบกวนจิตใจหรือไม่? รอให้เด็กเล่าจบ จึงให้คำชมเชยสิ่งที่เด็กได้พยายามทำ หรือพยายามแก้ปัญหาที่ผ่านมา ถามความต้องการของเด็ก แล้วจึงเสนอคำแนะนำต่างๆ เป็นทางเลือกให้เด็กได้พิจารณาตัดสินใจ

วิธีการรักษาภาวะซึมเศร้า ได้แก่ การรักษาด้วยจิตบำบัด การให้คำแนะนำ การปรับความสัมพันธ์ในครอบครัว การปรับพฤติกรรม การปรึกษาปัญหากับทางโรงเรียน และการใช้ยาแก้ซึมเศร้า

หากผู้ปกครองสงสัยว่าบุตรหลานอาจมีภาวะซึมเศร้า ผู้ปกครองควรขอความช่วยเหลือจากกุมารแพทย์ ที่ปรึกษาของโรงเรียน หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อประเมินปัญหาอย่างครอบคลุม วินิจฉัยภาวะซึมเศร้า และระบุวิธีการรักษาที่เหมาะสม

บทความโดย
พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์

เสริมสร้างการภูมิใจในตนเอง เพียงยอมรับตนเองได้ โดย พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น

การมีสุขภาพใจดีสัมพันธ์กับการมีความภูมิใจในตนเอง ซึ่งเราจะมีความภูมิใจในตนเองได้นั้น เราจำเป็นต้องยอมรับตนเองได้ หมายถึง การยอมรับคุณลักษณะทั้งหมดของบุคคลทั้งด้านบวก และด้านลบได้

หลายคนมีการยอมรับตนเองต่ำ อาจมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งมีทฤษฎีทางจิตเวชที่ได้อธิบายว่าบุคคลพัฒนาความภาคภูมิใจในตนเอง ส่วนหนึ่งมาจากการที่คนอื่นชื่นชมในความพยายาม หรือในการกระทำของเรา บางคนที่มีการยอมรับตนเองต่ำอาจจะพยายามทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากให้สำเร็จจนกดดันตนเอง เพราะอาจเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยให้คนอื่น หรือตนเองเห็นคุณค่าของตนเอง แต่ก็อาจจะเติมความภูมิใจในตนเองได้ชั่วระยะสั้นๆ
หากไม่มีการยอมรับตนเอง เราอาจจะสัมผัสกับความผาสุกทางจิตใจได้ยากขึ้น หากเรามีความรู้สึกในแง่ลบเกี่ยวกับตัวเองบ่อยๆ จะมีผลรบกวนบริเวณสมองที่ช่วยให้เราควบคุมอารมณ์และความเครียดได้

ความสัมพันธ์ทางสังคมในเชิงบวก การสนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสังคม และการได้รับการยอมรับทางสังคมช่วยสร้างการพัฒนาความนับถือตนเอง  เราควรปฏิบัติต่อตนเองด้วยความนับถือตนเอง แม้ในเวลาที่เราทำผิดพลาด หรือไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ให้อภัยและให้กำลังใจตนเอง เพื่อกลับไปมองปัญหา และจัดการกับปัญหาได้ต่อไป ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อตนเองมากกว่าที่จะกล่าวโทษ และตำหนิตนเอง หรือผู้อื่นอันจะทำให้การควบคุมอารมณ์ และการจัดการปัญหายิ่งแย่ลง

การพัฒนาทักษะการยอมรับตนเองเพื่อให้เราสามารถเห็นอกเห็นใจตนเอง เช่น การเขียนจดหมายถึงตัวเอง โดยนึกถึงสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด เขียนอธิบายสถานการณ์ แต่ไม่ต้องโทษใคร รวมทั้งตัวเองด้วย นึกถึงสิ่งที่เราจะพูดกับเพื่อนที่ดีถ้าเขา หรือเธอกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากแบบนั้นอยู่ เพื่อเวลาที่เมื่อตัวเราเองอยู่ในสถานการณ์แบบนี้อีก เราจะได้ตอบสนองด้วยความเห็นอกเห็นใจต่อตัวเราเองได้

การเห็นอกเห็นใจตนเองมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ :
1. เมตตาตัวเอง คนที่มีความเห็นอกเห็นใจในตนเองจะยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบในตัวเองและในชีวิต เอาใจใส่ และอ่อนโยนต่อตนเองและผู้อื่น
2. เข้าใจความเป็นมนุษย์ปุถุชนทั่วไป รับรู้ถึงความไม่สมบูรณ์แบบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีเหมือนกัน
3. สติ ที่จะสังเกตความคิดและความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น โดยไม่ด่วนตัดสินทั้งตนเองและผู้อื่น
ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ มีหลายอย่างเกิดขึ้นมากมาย หลายอย่างที่ผู้คนรวมทั้งตัวเราเองต่างก็ไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน หลายเหตุการณ์ทำให้เกิดความสูญเสีย ผิดหวังหรือสิ้นหวัง แต่ขอให้ระลึกเสมอที่จะยอมรับตนเองให้ความเห็นอกเห็นใจตนเองได้ ให้อภัยตนเองได้ และนับถือตนเองเป็น ดูแลตนเองด้วยความเมตตา เข้าใจในความเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ไม่สามารถควบคุมทุกสิ่งให้เป็นดั่งใจต้องการได้ และมีสติมองปัญหาต่างๆ ได้รอบคอบขึ้น เพื่อทุกๆ คนจะสามารถประคองใจตนเองให้ผ่านอุปสรรคปัญหาต่างๆ จนกลายเป็นผู้มีประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากวิกฤตต่างๆ ในชีวิตที่ผ่านเข้ามา

บทความโดย
พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์

"วัยรุ่น" วัยแห่งการเปลี่ยนแปลง โดย พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต

วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ เช่น ฮอร์โมน การทำงานของสมอง มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดที่ซับซ้อนขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงทางจิตสังคม เริ่มมีความผูกพันใกล้ชิดกับบุคคลนอกครอบครัว มีความต้องการการยอมรับจากสังคมมากขึ้น

สมองของวัยรุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กอย่างมาก ในช่วงนี้ สมองจะแตกแขนงเส้นใยสมองมากขึ้น เกิดการเชื่อมต่อการทำงานในสมองมากมาย เกิดกระบวนการคิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวางในช่วงเวลานี้ แต่เป็นกระบวนการคิดที่คลุมเครือ หรือยุ่งยากซับซ้อน ทำให้การตัดสินใจอาจวู่วาม หรือตัดสินใจไม่ถูก

เมื่อวัยรุ่นเริ่มเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลาย สมองจะเริ่มลดจำนวนเส้นใยประสาท และเหลือไว้เฉพาะเส้นใยประสาทที่สำคัญ และเส้นใยที่เหลืออยู่นั้นจะถูกเคลือบ หรือหุ้มฉนวนด้วยปลอกไมอีลิน เพื่อให้เซลล์สมองมีการเชื่อมโยงการทำงานที่แข็งแรงและทำงานเร็วขึ้น ทำให้วัยรุ่นมีกระบวนการคิดที่เป็นระบบและมีมุมมองที่รอบคอบขึ้น  และยิ่งผู้ปกครองช่วยวัยรุ่นเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์ได้เร็วเท่าไร วัยรุ่นก็จะยิ่งก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ได้ดีขึ้นเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อเด็กเติบโตจนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ผู้ปกครองเองก็ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น วัยรุ่นจะเริ่มมีการแสดงความคิดเห็นในมุมมองของตนเองชัดเจนขึ้น มีการแสดงออกทางอารมณ์เข้มข้นขึ้น ผู้ปกครองควรค่อยๆ คลายการกำกับควบคุมวัยรุ่น เลือกที่จะพูดคุยห้ามปรามเฉพาะพฤติกรรมที่เริ่มเป็นอันตรายต่อวัยรุ่นเอง โดยเริ่มจากการรับฟังมุมมองของวัยรุ่นก่อน เพราะการเป็นตัวอย่างเรื่องการฟังที่ดีจะช่วยสอนวัยรุ่นทางอ้อม ให้วัยรุ่นเห็นลักษณะการเป็นผู้ฟังที่ดี การรู้จักควบคุมอารมณ์ การใส่ใจคู่สนทนา การจับประเด็น/ใจความสำคัญ การให้เกียรติผู้อื่น และเป็นการแสดงการยอมรับในคุณค่าของเด็ก แม้ผู้ปกครองจะไม่ได้เห็นกับวัยรุ่นในท้ายที่สุดแล้วก็ตาม แต่วัยรุ่นก็จะมีพฤติกรรมต่อต้านลดลง

วัยรุ่นนั้นเป็นช่วงวัยที่กำลังแสวงหาเอกลักษณ์ความเป็นตัวเอง ได้มีประสบการณ์ต่างๆที่ท้าทายเพื่อยืนยันการเป็นผู้ใหญ่ว่าตนเองสามารถจัดการดูแลตนเองได้ แต่นั่นย่อมตามมาด้วยการทดลองทำสิ่งต่างๆ ทั้งลองผิดและลองถูกในการใช้ชีวิต อาจเสี่ยงต่อการทดลองใช้ยาเสพติด หรือประสบการณ์ทางเพศสัมพันธ์  แต่หากผู้ปกครองมีการรับฟังวัยรุ่นด้วยความสงบได้มากพอ รอให้วัยรุ่นได้พูดความคิด ความรู้สึก หรือความต้องการของเขาก่อน ผู้ปกครองควรกล่าวคำชื่นชมความพยายาม หรือความตั้งใจจริงที่ดีของวัยรุ่นบ้าง แล้วจึงค่อยเสนอความคิดเห็นต่างๆ ในมุมมองที่หลากหลาย ไม่ใช่เพื่อให้วัยรุ่นต้องคิด หรือทำตามที่ผู้ปกครองบอก แต่เพื่อให้เขาได้มีมุมมองต่อเหตุการณ์นั้นได้รอบคอบขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้ววัยรุ่นจะต้องรู้จักตัดสินใจด้วยตนเองและรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองเลือก

แม้ว่าสภาพแวดล้อมภายนอกมีอิทธิพลต่อกระบวนการพัฒนาความคิด อารมณ์ และสังคมของวัยรุ่น แต่ผลการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่สนับสนุนว่าครอบครัวมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของวัยรุ่นมากเช่นเดียวกัน

สามารถติดต่อนัดหมาย หรือรับคำปรึกษาเพิ่มเติม ได้ที่ โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต หรือ ติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-998-9888 ต่อ 3216 , 3217 ได้ในเวลา 08.00-20.00 น.นะคะ

บทความโดย
พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้