APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
สายด่วน
02-998-9999

4 อาการเสี่ยง ร้อนๆแบบนี้ แม่ท้องต้องระวัง

“โรคหน้าร้อน ” ที่ แม่ท้อง ต้องระวัง

ช่วงตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่จะเผาผลาญอาหารได้ดีกว่าคนทั่วไปถึง 20% ทำให้ร่างกายมีภาวะร้อนกว่าปกติ เกิดภาวะเหงื่อไหลได้ง่าย และในฤดูร้อนยังมีโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก วันนี้หมอจะมาแนะนำการดูแลตัวเองของคุณแม่ในหน้าร้อนกัน

1. โรคลมแดด (Heat Stroke) เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนเกิดอาการผิดปกติต่างๆ

  • อาการ : เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ความดันต่ำ ฯลฯ หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาการจะหนักขึ้น จนกลายเป็นเพ้อ, ชัก, ไตล้มเหลว, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, ช็อค และเกิดลิ่มเลือดอุดตันจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ป้องกัน และรักษา อย่างไร?
    - หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจ้าในวันที่อากาศร้อนจัด
    - ดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้าน ควรจิบน้ำบ่อยๆ แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม
    - ใส่เสื้อผ้าที่บางเบาสบาย
    - หากมีอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณของโรค ควรรีบเข้าที่ร่ม นอนราบ และยกเท้าสูง คลายเสื้อผ้าให้หลวม แล้วใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามศีรษะ,ซอกคอ, รักแร้ หากมีอาการรุนแรง ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล

2. ภาวะร่างกายขาดน้ำ (Dehydration)
เกิดพร้อมกับโรคลมแดด เนื่องจากเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ร่างกายจะขับเหงื่อออกมามากกว่าปกติ ทำให้เลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น ภาวะนี้อาจกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอ็อกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้

  • อาการ เวียนศีรษะ, คลื่นไส้อาเจียน, เป็นลม, มีภาวะระบายลมหายใจเกิน หรือหายใจติดขัด, กล้ามเนื้อหดตัวหรือเป็นตะคริว, ปริมาณของเหลวที่ออกจากร่างกาย เช่น เหงื่อ และปัสสาวะลดลง อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นโดยไม่มีสัญญาณของอาการเจ็บป่วยอื่นๆ
  • ป้องกัน และรักษา อย่างไร?
    - หลีกเลี่ยงการออกแดดจ้าหรืออยู่ในที่ที่อากาศร้อน
    - ออกกำลังกาย(แบบพอเหมาะ)และพักผ่อนให้เพียงพอ
    - ลดปริมาณคาเฟอีน โดยงดดื่มชา, กาแฟ หรือน้ำอัดลม
    - หากมีอาการผิดปกติ ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับโรคลมแดด ควรดื่มน้ำสะอาดเพื่อเพิ่มของเหลวในร่างกายด้วย
    - หากยังมีอาการคงอยู่หรือมีอาการต่อไปนี้ ได้แก่ กล้ามเนื้อช่องท้องหดรัดตัวหรือเป็นตะคริวมากกว่า 5-6 ครั้งใน 1 ชั่วโมง, มีเลือดออกทางช่องคลอด, มีอาการบวมตามใบหน้าและมือ หรืออาการอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์

3.ไข้หวัด
หากเป็นไข้หวัดในช่วงตั้งครรภ์อาการจะทุเลาช้ากว่าคนทั่วไปเล็กน้อย เพราะระบบภูมิต้านทานในร่างกายลดต่ำลง ส่วนมากแล้วเชื้อหวัดจะไม่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อถึงทารก แต่คุณแม่ก็ควรระวัง เพราะหากติดเชื้อหวัดชนิดรุนแรง อาจกระตุ้นให้เกิดการแท้งได้ในช่วง 3 เดือนแรก หรือภาวะคลอดก่อนกำหนดในช่วงไตรมาสท้ายได้

  • อาการ : อาการไอ จาม มีน้ำมูก ไม่มีอันตรายต่อทารก แต่เวลาที่คุณแม่ไอแรงๆ ความดันในท้องจะเพิ่มขึ้น อาจไปกดเบียดมดลูก ทำให้มดลูกบีบตัว จนเหมือนท้องตึงขึ้นมาเล็กน้อย หากมีอาการไข้สูงเกินกว่า 38 องศา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที (ไข้สูงเกินกว่า 40 องศาอาจทำให้เกิดความพิการในทารก)
  • ป้องกัน และรักษา อย่างไร?
    - หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีคนมากๆ หรือที่แออัดซึ่งระบายอากาศไม่ดี รวมถึงสถานที่อากาศร้อนบริเวณนั้นมีคนเป็นหวัด เชื้อจะกระจายอยู่ในอากาศ ควรใส่หน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก
    - พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาอุณหภูมิร่างกายให้คงที่ เปิดเครื่องปรับอากาศพอประมาณ
    - รับประทานผักและผลไม้รสเปรี้ยวเพื่อเพิ่มวิตามินซี
    - หากมีอาการไอ สามารถทานยาแก้ไอที่มีส่วนผสมเป็นยาละลายเสมหะได้ ควรระวังยาแก้ไอที่มีฤทธิ์เป็นยากดไอ
    - หากมีอาการไข้ควรเช็ดตัวและดื่มน้ำสะอาดมากๆ สามารถทานยาแก้ไข้พาราเซตามอลได้ ไม่ควรกินยาในกลุ่มยาแก้แพ้และยาแก้อักเสบประเภทแอสไพริน ไม่ควรซื้อยากินเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

4. อหิวาตกโรค(cholera)
เกิดจาการติดเชื้อแบคทีเรียภายในลำไส้ ที่อาจปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำดื่ม

  • อาการ : ถ่ายเหลวเป็นน้ำมาก ท้องเสีย อาเจียน หงุดหงิด เซื่องซึม ตาโหล ริมฝีปากแห้งกระหายน้ำมาก ผิวเหี่ยวและแห้ง ปัสสาวะน้อยมาก ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ ทำให้เกิดอาการช็อคได้
  • ป้องกัน และรักษา อย่างไร?
    - ดื่มน้ำเกลือแร่เมื่อมีอาการถ่ายเหลวเพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป
    - ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังรับประทานอาหาร รวมถึงการขับถ่ายด้วย
    - รับประทานอาหารสะอาดปรุงสุก หลีกเลี่ยงอาหารดิบและอาหารที่เก็บไว้นาน
    - รับประทานผักผลไม้ที่ปอกเปลือกได้และควรปอกเปลือกผลไม่ด้วยตนเอง หลีกเลี่ยงการทานผลไม้ทั้งเปลือ
    - ระมัดระวังในการบริโภคผลิตภัณฑ์จากนม

อาการที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นอาการที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อาจจะพบเจอ ดังนั้นการดูแลตัวเองให้สุขภาพดีอยู่เสมอเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยปลอดภัยแข็งแรง และในกรณีที่มีอาการผิดปกติควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ทันที

ที่มาจาก นิตยสาร Real Parenting และเว็บไซต์ pobpad

เรียบเรียงบทความโดย
พญ.สุวรรณี บำเรอราช

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้