APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
สายด่วน
02-998-9999

ระเบิดความโกรธ ปัญหาที่พ่อ-แม่ ต้องรีบแก้ไข

ระเบิดความโกรธ ปัญหาที่พ่อ-แม่ ต้องรีบแก้ไข โดย พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต

พฤติกรรมก่อกวนของเด็ก อาการที่เด็กหงุดหงิดและโมโหง่ายเกิดจากอะไร? มีวิธีดูแลอย่างไร? เพราะอะไรเราจึงควรให้ความสนใจและทำความเข้าใจ เนื่องจากพฤติกรรมก่อกวนหลายอย่างมักแสดงออกเป็นรูปแบบความโกรธ ความหงุดหงิด ซึ่งล้วนเป็นอาการหลักของโรคดื้อต่อต้าน (Oppositional Defiant Disorder) และพฤติกรรมเกเรก้าวร้าวรุนแรง (Conduct disorder) อย่างไรก็ตามเด็กที่มีความผิดปกติทางจิตเวชอื่นๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมก่อกวน โกรธและก้าวร้าวมากขึ้นเช่นกัน

จากการศึกษางานวิจัยพบว่าอัตราความชุกของพฤติกรรมก่อกวนมีตั้งแต่ 14 - 35% โดยเฉพาะในเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นพบความชุกมากขึ้นเป็น 14 - 62% ในเด็กที่มีความวิตกกังวลพบความชุก 9 - 45%

แต่อย่างไรก็ตาม ความโกรธเป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์ตามธรรมชาติ แม้ความโกรธเป็นสภาวะที่ช่วยเพิ่มความตื่นตัวทางสรีรวิทยาให้มากขึ้น แต่ความโกรธมักทำให้เกิดความคิดตำหนิต่อว่าตนเองหรือผู้อื่นตามมา เพราะความโกรธเกิดจากความคับข้องใจ หรือจากการถูกยั่วยุจากผู้อื่น ความโกรธสามารถอยู่ได้นานจากนาทีเป็นชั่วโมง และจากระดับรำคาญเล็กน้อยไปจนถึงระดับโกรธมาก พฤติกรรมการร้องไห้ กระทืบ ผลัก ตี และ เตะ เป็นเรื่องปกติในเด็กอายุ 1-4 ปี และมีความถี่ตั้งแต่ 5-9 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยมีระยะเวลาเฉลี่ย 5-10 นาที แต่ความรุนแรงและความถี่ของการโกรธมีแนวโน้มลดลงเมื่อเด็กค่อยๆ เติบโตและมีอายุค่อยๆ เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้การระเบิดความโกรธที่รุนแรง และควบคุมความโกรธไม่ได้ เป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข เพื่อช่วยให้เด็กมีทักษะการควบคุมอารมณ์ และมีทักษะในการรับมือกับความโกรธและความคับข้องใจได้

วิธีที่สามารถใช้ในการจัดการกับความโกรธ ได้แก่...

  1. รู้ทันอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ความโกรธไม่ใช่สิ่งไม่ดี และไม่ได้สื่อว่าคนที่รู้สึกโกรธเป็นคนไม่ดี ให้เราสามารถยอมรับตนเองได้ว่าเรารู้สึกโกรธ แต่การจะรู้ทันอารมณ์ได้นั้นต้องอยู่ในภาวะที่สิ่งแวดล้อมสงบเงียบ เพื่อลดสิ่งยั่วยุอารมณ์ และนำไปสู่การเกิดสมาธิพอที่จะมีสติรู้ตัวมากขึ้น
  2. การผ่อนคลายลมหายใจ และกล้ามเนื้อ โดยให้หายใจเข้า-ออกช้าๆ ลึกๆ โดยที่ยังรู้สึกหายใจสะดวก สำรวจกล้ามเนื้อทุกส่วนว่า มีกล้ามเนื้อใดหดเกร็งอยู่ เริ่มตั้งแต่ใบหน้า บ่า ฝ่ามือ แขน ขาทั้ง 2 ข้าง โดยค่อยๆ จินตนาการว่ากล้ามเนื้อนั้นๆ กำลังยืดและคลายตัว
  3. เมื่ออารมณ์สงบขึ้นแล้ว จึงพิจารณาว่า ความโกรธมาจากไหน เพื่อหาสาเหตุ และหาวิธีจัดการแก้ไข้ปัญหานั้น เช่น การพูดคุยกับคนที่ไว้ใจว่าเรารู้สึกอย่างไร การพูดคุยช่วยให้ความรู้สึกรุนแรงสงบลง และช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจเรามากขึ้น นอกจากนี้ การได้ยินตัวเองพูดออกมาดังๆ จะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ง่ายกว่าเวลาที่ความคิดและความรู้สึกถูกกักไว้ภายในตัวเรา

การอนุญาตให้ตัวเองระบุความรู้สึกของตัวเองได้อย่างตรงไปตรงมา จะช่วยเปลี่ยนความโกรธเป็นความเข้าใจ เกิดการตระหนักรู้ควบคู่ไปกับการควบคุมตนเองได้ การรับมือกับความโกรธไม่ใช่เรื่องง่าย และการควบคุมความโกรธเป็นสิ่งที่ต้องค่อย ๆ ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง มันอาจจะเป็นไปไม่ได้ที่จะกำจัดความรู้สึกโกรธออกไปทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมความโกรธไม่ให้ความโกรธครอบงำเรา

สามารถติดต่อนัดหมาย หรือรับคำปรึกษาเพิ่มเติม ได้ที่ โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต หรือ ติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-998-9888 ต่อ 3216 , 3217 ได้ในเวลา 08.00-20.00 น.

บทความโดย
พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้