APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
สายด่วน
02-998-9999

ทำอย่างไรเมื่อลูก "เรียนออนไลน์" แล้วไม่มีสมาธิ?

ทำอย่างไรเมื่อลูก "เรียนออนไลน์" และไม่มีสมาธิ? โดย พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต

ในช่วงวิกฤติโควิด 19 ที่ผ่านมาหลายๆโรงเรียนมีการปรับมาตรการการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวผ่านการเรียนออนไลน์ โดยให้ผู้ปกครองคอยคุมพฤติกรรม และบรรยากาศการเรียนการสอนให้เป็นไปอย่างราบรื่น แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีอุปสรรคในการเรียนของเด็กอยู่บ้าง อาทิ

  • ไม่มีสมาธิในการเรียน
  • ขี้เกียจเรียน สนใจเรียนได้แค่ช่วงสั้นๆ ต้องคอยประกบตลอดเวลาเรียน หรือทำการบ้าน หรือมักจะบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยงไม่ยอมเรียนหนังสือ
  • นั่งเหม่อ ใจลอย
  • ขี้ลืม
  • ทำงานช้า

โรคสมาธิสั้น 

พบได้ประมาณ 7.2% ของประชากรทั่วโลกโดยบางพื้นที่อาจพบได้มากถึง 8.7 - 15.5% เกิดจากพัฒนาการทางระบบประสาทด้านสมาธิยังทำงานได้น้อยกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ อาการบาดเจ็บที่สมอง การสัมผัสกับสารเคมี เช่น ตะกั่ว การใช้แอลกอฮอล์และยาสูบระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะคลอดก่อนกำหนด การมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าปกติ เป็นต้น

มีลักษณะอาการสำคัญ 3 แบบ 

ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นต่อเนื่องมาตลอด 6 เดือน โดยมักมีอาการทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน

  • อาการไม่นิ่ง มักเคลื่อนไหวตลอดเวลา
  • อาการไม่มีสมาธิ คงสมาธิให้จดจ่อได้ไม่นาน
  • อาการหุนหันพลันแล่นมักลงมือทำ โดยไม่ได้คิดไตร่ตรอง

เด็กจะมีอาการดังกล่าวมากกว่าเด็กทั่วไปที่อยู่ในวัยเดียวกันและส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆเช่น ปัญหาในการดูแลชีวิตประจำวันทำให้ไม่เป็นระเบียบ หรือดูเหมือนไม่รู้หน้าที่ ปัญหาการเรียน เช่น ทำการบ้านไม่เสร็จ ส่งงานไม่ครบ ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน เช่น เล่นแรง รอคอยไม่ได้ทำให้มักกระทบกระทั่งหรือทะเลาะกับเพื่อน

ผู้ปกครองสามารถสังเกตเห็นอาการได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 3-5 ปีเป็นต้นไป แต่ส่วนใหญ่จะได้รับการวินิจฉัยที่ช่วงอายุ 7 ปี ซึ่งการมารับการรักษาตั้งแต่อายุ 3 ปี หรือตั้งแต่สังเกตพบอาการสมาธิสั้น ผลการรักษาจะดี และลดภาวะแทรกซ้อน

เด็กที่มีภาวะโรคสมาธิสั้นมักพบปัญหาอื่นๆร่วมด้วยเช่นปัญหาการเรียนบกพร่อง ปัญหาการสื่อสาร ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว ปัญหาซึมเศร้าหรือวิตกกังวล

หากเด็กได้รับการรักษา เช่น การปรับพฤติกรรม และการให้ยา จะช่วยให้เด็กมีสมาธิได้ดีขึ้น จัดการชีวิตประจำวันเป็นระบบเรียบร้อยขึ้น มีสมาธิในการเรียน และช่วยให้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้เหมาะสมขึ้น

การมาพบจิตแพทย์เด็กจะช่วยให้เด็กได้รับการประเมินด้านสมาธิ และปัญหาอื่นๆที่มักพบร่วมด้วย เพื่อได้รับคำแนะนำและช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจเด็ก สามารถช่วยเหลือและปรับพฤติกรรมเด็กได้อย่างเหมาะสม

คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองเพื่อช่วยให้ลูกมีสมาธิเพิ่มขึ้น

  • สร้างกิจวัตรประจำวัน พยายามฝึกหัดให้ลูกทำตามตารางเวลาเดิมเป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าจนถึงเวลาเข้านอน จัดวางของต่างๆให้เป็นที่ ส่งเสริมให้ลูกรู้จักเก็บของเข้าที่ทุกครั้งหลังใช้ของเสร็จ เปิดโอกาสให้ลูกช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น เพื่อฝึกให้ลูกรู้จักการควบคุมเวลา มีความรับผิดชอบ และลดปัญหาการหลงลืม
  • จัดบรรยากาศสิ่งแวดล้อมให้มีสมาธิ ลดสิ่งรบกวนสมาธิ เช่น ปิดทีวี ลดเสียงรบกวน และจัดเก็บของบนโต๊ะหรือพื้นที่ทำงานให้โล่งเพื่อลดสิ่งรบกวนสมาธิในเวลาที่ลูกทำการบ้าน
  • ใช้คำพูดที่สั้น กระชับและชัดเจนเมื่อต้องการบอกให้ลูกทำอะไร ในงานที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน หรือต้องใช้เวลาทำงานนาน ควรช่วยลูกวางแผน แบ่งงานออกเป็นงานย่อย เพื่อให้ขั้นตอนง่ายและสั้นขึ้น มีการหยุดพักเป็นช่วงๆเวลาที่ลูกเริ่มหมดสมาธิ เพื่อช่วยลดความเครียดได้
  • ใช้คำชมหรือรางวัลเล็กๆน้อยๆที่ลูกชอบเวลาที่ลูกมีความพยายาม ความตั้งใจ หรือความอดทน สามารถใช้รูปภาพ สติ๊กเกอร์ หรือแผนภูมิเพื่อติดตามพฤติกรรมเชิงบวกและช่วยสร้างแรงจูงใจให้ลูกมีความพยายามปรับพฤติกรรมตนเองได้ต่อเนื่อง
  • ลดการทำโทษด้วยการดุด่า ตะโกน หรือตี ใช้การจำกัดสิทธิพิเศษเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
  • ค้นหาและสนับสนุนสิ่งที่ลูกทำได้ดี เช่น กีฬา ออกกำลังกาย ศิลปะ ดนตรี หรือการเล่นสันทนาการต่างๆ เป็นการสร้างความภูมิใจในตนเอง เสริมประสบการณ์เชิงบวกสิ่งเหล่านี้สามารถช่วยให้อาการสมาธิสั้นไม่แย่ลงได้

สามารถติดต่อนัดหมาย หรือรับคำปรึกษาเพิ่มเติม ได้ที่ โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต หรือ ติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-998-9888 ต่อ 3216 , 3217 ได้ในเวลา 08.00-20.00 น.

บทความโดย
พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้