พัฒนาการของลูกน้อย ที่เริ่มต้นตั้งแต่ในครรภ์
พัฒนาการที่สมบูรณ์ แข็งแรงตามวัยของลูกน้อย เป็นสิ่งที่คุณพ่อ-คุณแม่ ทุกท่านต้องการ ดังนั้น การดูแลลูกตั้งแต่การตั้งครรภ์ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะพัฒนาการที่สมบูรณ์เริ่มต้นตั้งแต่ในครรภ์
ก่อนการตั้งครรภ์ควรเตรียมตัวอย่างไร?
หากมีโรคประจำตัวอยู่ คุณแม่ควรควบคุมดูแลให้ดีก่อนตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคธาลัสซีเมีย และโรคโลหิตจาง
ตรวจเลือดหาโรค
- โรคไวรัสตับอักเสบ โรคหัดเยอรมัน เพื่อพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกัน
- โรคซิฟิลิส โรคเอดส์ เพื่อการรักษาไม่ให้โรคส่งผลถึงตัวเด็กได้
- โรคธาลัสซีเมีย หากมีปัญหา จะได้ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในเด็ก
ให้ความสำคัญกับวิตามิน
- วิตามินโฟเลต ลดความเสี่ยงต่อภาวะพิการของระบบประสาทและสมองในเด็ก
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่
เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ควรทำอย่างไร?
ไปพบแพทย์เพื่อยืนยันผลการตั้งครรภ์ และทำการฝากครรภ์ ตรวจผลเลือด ทำการปรึกษาแพทย์ในเรื่องโรคประจำตัวต่างๆ ยาที่ใช้อยู่เป็นประจำ , โรคพันธุกรรมต่างๆ ในครอบครัว (ถ้ามี) รวมไปถึงกรุ๊ปเลือด
12 สัปดาห์แรก
เตรียมรับมือกับอาการแพ้ท้อง ทานอาหารที่สามารถทานได้ ยังไม่ต้องคำนึงถึงการบำรุงมากนัก ยังไม่จำเป็นต้องทานยาบำรุงเลือด หรือแคลเซียม หรือนม ให้ระมัดระวังการกระทบกระเทือนบริเวณท้องน้อย หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การมีเพศสัมพันธ์ คุณแม่มือใหม่สามารถออกกำลังกายได้ แต่ห้ามรุนแรง ห้ามหักโหม แนะนำให้ใช้วิธีการเดินดีกว่าวิ่ง และสามารถว่ายน้ำได้ ระมัดระวังการใช้ยาให้มากเป็นพิเศษ คุณแม่สามารถใช้ยาแก้ปวดประเภท Paracetamol, ยาแก้หวัด Cholotpheniramine , ผงเกลือแร่
*และหากมีความจำเป็นต้องทำฟัน คุณแม่ต้องแจ้งคุณหมอทุกครั้ง “ว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่”
*อย่าลืมหลีกเลี่ยง สารพิษและมลภาวะ หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ต่างๆ ที่จะทำให้เกิดโรค เช่น โรคหัดเยอรมัน โรคไข้สุกใส โรคไข้หวัดใหญ่
11-14 สัปดาห์
สังเกตได้ว่าหน้าท้องจะใหญ่ขึ้นจนรู้สึกได้ อาการแพ้จะเริ่มน้อยลง ทานอาหารได้มากขึ้น ควรเริ่มทานยาบำรุงเลือด เริ่มดื่มนม ทานอาหารที่มีประโยชน์กับครรภ์มากขึ้น ควรงดน้ำตาล ลดของหวาน ลดอาหารจำพวกไขมัน เน้นทานโปรตีน ผัก ผลไม้
ควรหาเวลามาตรวจอัลตร้าซาวด์ หรือตรวจเลือดเพื่อเช็คดูความเสี่ยงที่อาจจะเกิดกับลูก เช่น การเกิดดาวน์ซินโดรม (เกิดมากให้กลุ่มคุณแม่ช่วงอายุมากกว่า 35 ปี)
16 -18 สัปดาห์
(ในกรณีคุณแม่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการที่ลูกอาจเป็นดาวน์ซินโดรม แนะนำให้เข้ารับการตรวจน้ำคร่ำ) หาความรู้เรื่องเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ วิธีการเลี้ยงดูลูกหลังคลอด เตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงเวลาสบายที่สุดของคุณแม่ เพราะอาการแพ้ท้องจะเริ่มน้อยลง หรือไม่ค่อยแพ้ท้อง หากรอหลังคลอด คุณแม่อาจไม่มีเวลานั่งศึกษาข้อมูล เพราะอาจจะต้องวุ่นวายกับเจ้าตัวน้อยได้
20-22 สัปดาห์
หน้าท้องจะเริ่มใหญ่ขึ้นถึงระดับสะดือ เริ่มสัมผัสได้ถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์เบาๆ แนะนำให้ตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อดูอายุครรภ์ ตรวจคัดกรองความผิดปกติของลูกน้อย ของรก และน้ำคร่ำ เน้นดูแลเรื่องอาหารการกิน ดื่มนมอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน ควรใส่เสื้อผ้าหลวมๆ สบายๆ ไม่แนะนำให้ใส่ชุดที่รัดหน้าท้อง
24 สัปดาห์
หน้าท้องจะเริ่มใหญ่ขึ้นเหนือสะดือ รู้สึกถึงการดิ้นของลูกน้อยได้อย่างชัดเจน เน้นเข้มงวดเรื่องการทานยาบำรุงเลือด แคลเซียม และการดื่มนม (วันละ 2 แก้ว) ควรตรวจอัลตร้าซาวด์ เพื่อยืนยันอายุครรภ์ ติดตามการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ อย่าลืมเรื่องอาหารเป็นพิเศษ งดของหวาน น้ำหวาน ไขมัน เน้นทานโปรตีน ผัก ผลไม้ ควบคุมดูแลให้น้ำหนักอยู่ที่สัปดาห์ละประมาณครึ่งกิโลกรัม ไม่ควรเกินหนึ่งกิโลกรัม (ชั่งน้ำหนักด้วยเครื่องชั่งเดียวกัน เวลาใกล้เคียงกัน) ห้ามใช้วิธีการอดอาหาร ห้ามลดน้ำหนัก
28 สัปดาห์
สังเกตการดิ้นของลูกน้อยทุกวัน และให้นับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้น เด็กที่แข็งแรงจะดิ้นมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน ถ้าเกิดการตะคริว แสดงว่าลูกน้อยได้นำแคลเซียมจากตัวคุณแม่ไปใช้มาก แนะนำให้คุณแม่ทานนมให้มากขึ้น พักผ่อนให้มาก เดินและยืนให้น้อยลง ฟังเพลงสบายๆ จะเป็นเพลงคลาสสิก เพลงที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกผ่อนคลาย จะได้อารมณ์ดีทั้งคุณแม่และลูกน้อย
*หากคุณแม่ใส่แหวนอยู่ ควรถอดแหวนออกก่อนแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าถึงตอนใกล้คลอดนิ้วมืออาจจะบวม หากต้องผ่าตัดคลอด อาจเป็นอุปสรรคกับกระบวนการผ่าตัดได้
*คุณแม่ไม่ควรใส่รองเท้าที่มีส้นสูง เนื่องจากสรีระมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น จะทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และอาจทำให้ปวดหลังอีกด้วย
32 สัปดาห์
ตรวจเลือดติดตามภาวะโลหิตจาง ตรวจน้ำตาลในเลือด อย่าลืมนับจำนวนครั้งที่ลูกน้อยดิ้นทุกวัน พักผ่อนให้มาก ระมัดระวังการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด หากมีอาการท้องแข็งบ่อยๆ แสดงว่าคุณแม่อาจจะเดินมากเกินไป ต้องพักผ่อนให้มากขึ้น เดินหรือยืนให้น้อยลง ยิ่งหากท้องแข็ง และมีอาการปวดตึงท้องร่วมด้วย ยิ่งต้องพักผ่อนให้มาก ห้ามฝืนเดินหรือทำงานต่อ
แนะนำให้นอนตะแคงเอาด้านซ้ายลง เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก การนอนหงายอาจทำให้แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกได้ ทั้งนี้ คุณแม่สามารถนอนท่าไหนก็ได้ที่รู้สึกว่าสบาย หายใจได้ตามปกติ ไม่แน่นหน้าอก และลูกในครรภ์ดิ้นปกติ (หากลูกดิ้นมากผิดปกติแสดงว่าลูกอาจไม่ชอบท่าที่คุณแม่นอนอยู่) ให้พลิกตัวเปลี่ยนท่านอน และห้ามนอนคว่ำโดยเด็ดขาด
*ควรหลีกเลี่ยงการขับรถเพราะท้องใหญ่อาจเกิดอันตราย
*น้ำมะพร้าวดื่มได้ แต่อย่ามาก เพราะน้ำตาลในเลือดอาจสูงผิดปกติได้
36 สัปดาห์
สังเกตอาการเจ็บครรภ์ (ท้องแข็ง และจะตึงเล็กน้อย เป็นแค่ครั้งหรือสองครั้งและจะหายไป อาการจะไม่ต่อเนื่อง ) อย่าลืมนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้น ช่วงนี้ลูกอาจจะดิ้นเบาลง เพราะลูกน้อยเริ่มโตตัวใหญ่ขึ้น ถ้าดิ้นเกิน 10 ครั้ง ถือว่าเป็นปกติ และควรจัดการตัวเอง ก่อนที่จะเตรียมตัวคลอด
- เคลียร์งานทุกอย่างที่ทำอยู่ให้เรียบร้อย
- ควรวางแผนในการเดินทาง ไปโรงพยาบาลหากเจ็บครรภ์ ทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน
- การติดต่อสื่อสารกับบุคคลต่างๆ หากเกิดกรณีฉุกเฉิน
- ที่สำคัญเลย เตรียมตั้งชื่อเจ้าตัวน้อยไว้ด้วย
- นำสมุดฝากครรภ์ไปด้วย
ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เจ้าตัวเล็กของคุณพ่อ-คุณแม่ มีพัฒนาการที่สมบูรณ์และแข็งแรงตั้งแต่ในครรภ์
-----
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
Inbox : https://bit.ly/2xNaFc1
Line : @patrangsit หรือคลิก >> https://bit.ly/33p9nzw
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน