APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
สายด่วน
02-998-9999

ปัจจัยความสำเร็จทางการศึกษาของเด็ก

ปัจจัยความสำเร็จทางการศึกษาของเด็ก โดย พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต

หลายท่านอาจนึกถึงเรื่องความฉลาดทางสติปัญญา แต่ความฉลาดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัจจัยสู่ความสำเร็จ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยอื่นๆ ภายในตัวเด็กที่มีผลต่อความสำเร็จทางการศึกษา เช่น การขาดแรงจูงใจ ความไม่มั่นคงทางอารมณ์ ทัศนคติเชิงลบ ลักษณะบุคลิกภาพ และปัจจัยภายนอก เช่น รูปแบบและระบบการศึกษา ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและโรงเรียน เป็นต้น

จากงานวิจัยพบว่าความสำเร็จทางการศึกษา เกี่ยวข้องกับการมีความสมดุลทางอารมณ์ การมีความขยันและอดทน มีความสามารถที่จะสร้างความสงบภายในตนเองได้ มีความมั่นใจในตนเอง ในขณะที่ความสำเร็จทางการเรียนน้อยนั้นจะสัมพันธ์กับอารมณ์กลัว กังวล หุนหันพลันแล่น อารมณ์ไม่คงที่

แต่ถึงแม้จะมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นในระหว่างที่เด็กกำลังศึกษา และเด็กอาจยังไม่ได้มีปัจจัยภายในตนเองที่มั่นคง พบว่ายังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความสำเร็จทางการศึกษาได้ คือ การมีความยืดหยุ่น เป็นความสามารถที่เกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคที่เข้ามาท้าทาย โดยความยืดหยุ่น หมายถึง ความสามารถของแต่ละบุคคลในการฟื้นตัวขึ้นเมื่อเผชิญกับปัญหา 

การช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความยืดหยุ่น และฟื้นตัวได้หลังประสบปัญหาทำได้อย่างไร? มีผลการศึกษาสนับสนุนว่ารูปแบบการสื่อสารที่ดีในครอบครัว มีความสัมพันธ์กับการส่งเสริมให้เด็กมีความยืดหยุ่นเมื่อเผชิญกับปัญหาได้มากขึ้น และมีความสำคัญต่อพฤติกรรมทางสังคมที่ดีของเด็ก การที่สมาชิกในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างอิสระ สม่ำเสมอต่อเนื่อง  มีการแบ่งปันกิจกรรม ความคิด และความรู้สึกของตนระหว่างกันในครอบครัว เห็นคุณค่าของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จะช่วยส่งเสริมทักษะดังกล่าวข้างต้น

การสื่อสารที่ดีระหว่างพ่อแม่และลูก เป็นรากฐานของความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เข้มแข็ง การพัฒนาทักษะการสื่อสารที่ดีช่วยให้ผู้ปกครองทราบปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ การสื่อสารที่ดียังเป็นการสนับสนุนพฤติกรรมเชิงบวกของเด็ก ดังนั้น ก่อนที่ผู้ปกครองจะเริ่มต้นสื่อสารควรมีการเตรียมตนเองก่อน เช่น ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมในการพูดคุยกับเด็ก ผู้ปกครองได้รวบรวมความคิดของตนเองเบื้องต้นก่อนที่จะเข้าไปพูดคุยกับเด็ก และผู้ปกครองอยู่ในสภาวะใจเย็นสามารถอดทนได้

ทักษะการสื่อสารที่สำคัญ

  • การตั้งคำถาม เพราะคำตอบที่สำคัญมาจากการตั้งคำถามที่ดี ควรใช้คำถามปลายเปิด โดยเริ่มต้นคำถามที่แสดงความสนใจความรู้สึกของเด็ก อย่าตำหนิ หรือตัดสินผิดถูก เช่น "ฟังดูเหมือนสถานการณ์นี้ยากลำบาก หนูรู้สึกอย่างไรบ้าง" "หนูทำอย่างไรเพื่อให้ผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากนั้นได้"
  • การรับฟังอย่างตั้งใจด้วยท่าทางและสีหน้าที่สงบ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ หลีกเลี่ยงการถามหรือพูดแทรกที่อาจขัดจังหวะการสื่อสารของเด็ก
  • ส่งเสริมการแก้ปัญหา เช่น "ในสถานการณ์นั้น หนูคิดว่าอะไรจะเป็นวิธีที่ดีกว่าในการรับมือกับสิ่งนั้น"
  • การสังเกต ดูปฏิกิริยาท่าทางและสีหน้าของเด็กว่าเด็กรู้สึกอย่างไรร่วมกับการรับฟังอย่างตั้งใจ ผู้ปกครองควรรอสักพัก และช่วยให้เด็กได้ผ่อนคลายท่าทาง ผ่อนคลายลมหายใจ จนกว่าท่าทางของเด็กบรรเทาลงดูปฏิกิริยาทางร่างกายของเด็กสงบขึ้น จึงค่อยสนทนาต่อ จะทำให้เด็กรู้สึกสบายใจที่จะบอกเล่าปัญหากับผู้ปกครอง
  • ควบคุมอารมณ์ของผู้ปกครองบางครั้งการพูดคุยกับเด็กทำให้เกิดความรู้สึกรุนแรง ซึ่งอารมณ์ที่ไม่สงบเหล่านั้นจะขัดขวางการสนทนา ทำให้ไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงและรบกวนการคิดแก้ปัญหา
  • การทำตามขั้นตอนดังกล่าวเบื้องต้นจะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถพูดคุยกับเด็กไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ และช่วยให้เด็กมีวิธีเผชิญกับปัญหาได้เหมาะสม มีความอดทนและยืดหยุ่นขึ้น สามารถฟื้นขึ้นจากปัญหาและกลับเข้าสู่สมดุลใหม่ได้อย่างมั่นคงมากขึ้น

สามารถติดต่อนัดหมาย หรือรับคำปรึกษาเพิ่มเติม ได้ที่ โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต หรือ ติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-998-9888 ต่อ 3216 , 3217

บทความโดย
พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้