กินเค็มกับโรคไต

กินเค็มกับโรคไต 

            หลายคนอาจสงสัยว่า การกินเค็มมีผลอย่างไรกับร่างกาย ทำให้เป็นโรคไตหรือไม่? รสเค็มในอาหารที่เรารับประทานอยู่เกิดจากปริมาณโซเดียม (sodium) ที่เจือปนอยู่ในอาหารอาหารที่มีปริมาณโซเดียมอยู่มากก็จะมีรสเค็มมาก อาหารจากธรรมชาติส่วนใหญ่จะมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่หลายชนิด แต่ส่วนใหญ่จะมีปริมาณไม่มาก โซเดียมจะพบมากในเครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ โดยเฉพาะที่มีรสเค็มและรสจัด เช่น เกลือแกง น้ำปลา ซีอิ๊ว ผงชูรส ซอสชนิดต่างๆ เช่น ซอสหอยนางรม ซอสถั่วเหลือง น้ำจิ้ม นอกจากนั้นในอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแปรรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารหมักดอง ขนมขบเคี้ยวต่างๆ ก็มักจะมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ในปริมาณมาก ปริมาณโซเดียมที่ควรรับประทานในแต่ละวันตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกคือน้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเท่ากับเกลือแกงประมาณ 5 กรัม (ประมาณ 1 ช้อนชา) หรือเทียบเท่ากับน้ำปลาหรือซีอิ๊วประมาณ 1 ช้อนโต๊ะครึ่ง

            การกินเค็มจะทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมเข้าไปในปริมาณมาก ซึ่งอวัยวะที่หลักจะช่วยรักษาสมดุลของโซเดียมในร่างกายก็คือไต โดย ไตจะทำหน้าที่ขับโซเดียมที่เกินมาในอาหารปริมาณมากออกจากร่างกายทางปัสสาวะ โซเดียมที่เกินในร่างกายจะทำให้หิวน้ำต้องทานน้ำมากขึ้น และโซเดียมในร่างกายที่มากจะทำให้ร่างกายเก็บน้ำไว้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งส่งผลตามมาทำให้ความดันในหน่วยกรองของไตสูงขึ้น ถ้าภาวะความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานจะส่งผลเสียต่อการทำงานของไต ทำให้เกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และเกิดการเสื่อมการทำงานของไตขึ้นหรือที่เราเรียกกันว่ามีโรคไตเรื้อรังนั่นเอง เมื่อไตทำงานลดลงมากก็จะไม่สามารถขับน้ำและโซเดียมที่เกินในร่างกายออกไปได้เพียงพอส่งผลให้เกิดอาการบวม และทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งความดันโลหิตสูงก็ส่งผลให้การทำงานของไตแย่ลงไปอีกเป็นวัฏจักรจนอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้ในที่สุด นอกจากนั้นภาวะบวม น้ำเกินในร่างกาย และความดันโลหิตสูงยังส่งผลต่อการทำงานของหัวใจทำให้หัวใจทำงานหนัก เกิดภาวะหัวใจโต และภาวะหัวใจล้มเหลวได้ การทำงานของหัวใจที่แย่ลงจะส่งผลทำให้โรคไตเรื้อรังแย่ลงไปอีก

            จะเห็นได้ว่าการกินเค็มมากเกินไปจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรังมากขึ้นในอนาคต และการกินเค็มมากในคนที่เป็นโรคไตอยู่แล้วยิ่งจะทำให้เกิดอาการมากขึ้นและไตเสื่อมเร็วขึ้นไปอีก ปัจจุบันจึงได้มีการรณรงค์ให้ลดการบริโภคเค็มกันอย่างแพร่หลาย เพื่อให้มีสุขภาพดีห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไตเรื้อรัง นั่นเอง

-----
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
Inbox : https://bit.ly/2xNaFc1
Line : https://bit.ly/33p9nzw

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้